เว็บโฮสติ้ง ของไทยหรือของต่างประเทศ แบบไหนดีกว่ากัน

เว็บโฮสติ้งแบบไหนดีกว่ากัน? ระหว่างในไทยกับต่างประเทศ ศึกษาให้ดีก่อนเลือกใช้บริการ  

สำหรับใครที่ยังงงๆ ลังเล จับต้นชนปลายเลือกไม่ถูกว่าจะเลือกใช้บริการเว็บโฮสติ้งจากผู้ให้บริการภายในประเทศไทย หรือเลือกผู้ให้บริการที่อยู่ต่างประเทศดี ยังหาหลักยึดไม่ถูกว่าควรเริ่มดูจากอะไร ลองมาอ่าน มาศึกษาทำความรู้จัก ข้อดีข้อเสีย ความต่างของการใช้บริการเว็บโฮสติ้งทั้งไทยและเทศพร้อมๆ กันตรงนี้เลยดีกว่าว่ามีประเด็นไหนบ้างที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการ จะได้ตัดสินใจเปรียบเทียบและเลือกใช้บริการได้ตรงกับความต้องการมากที่สุด

จดทะเบียนโดเมนเนมไปแล้วก็ต้องใช้เว็บโฮสติ้งกับที่เดิมรึเปล่านะ?

ก่อนจะไปดูว่าจะเลือกใช้บริการเว็บโฮสติ้งของไทยหรือต่างประเทศนั้นแบบไหนดีกว่ากัน เราขอหยิบยกเอาหนึ่งในคำถามยอดฮิตที่ใครหลายคนต่างสงสัยกัน ว่าหากเราทำการจดเบียนโดเมนเนมกับบริษัทบริษัทหนึ่งไปแล้วก็ต้องใช้บริการเว็บโฮสติ้งกับที่เดิมด้วยมั้ย

หลายคนมักคิดว่าหากเราจดทะเบียนโดเมนกับบริษัท ก ไปแล้วก็จำเป็นจะต้องใช้บริการเว็บโฮสติ้งจากบริษัท ก ด้วย เพื่อประสิทธิภาพของเว็บไซต์ บอกตรงนี้ชัดๆ เลยว่าไม่ว่าบริษัท ก จะหว่านล้อมโฆษณายังไง การจดทะเบียนโดเมนเนมกับการใช้บริการเว็บโฮสติ้งจากบริษัทเดียวกันนั้นก็ไม่ได้ส่งผล หรือทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่เราอาจจะได้รับความสะดวกสบายเรื่องการชำระเงิน ไม่ต้องวุ่นวายจ่ายทางนู้นทีทางนี้ทีก็เท่านั้น หรือหากมีโปรโมชั่นขายแบบแพ็กคู่แล้วเรามองว่าคุ้มก็ย่อมได้ตามสะดวก

ข้อจำกัดในการติดต่อสื่อสาร

ขอยกเรื่องการสื่อสาร ติดต่อ ระหว่างเรากับบริษัทผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งขึ้นมาเป็นประเด็นแรกๆ ก่อนเลย เพราะบางทีเราอาจจะมัวคิดถึงข้อดี-ข้อเสีย สารพัดต่างๆ นานา ไปไกลจนลืมนึกถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการพูดคุยสื่อสารไป หากคิดจะเลือกใช้บริการเว็บโฮสติ้งของต่างประเทศก็อย่าลืมว่าเราคงไม่สามารถติดต่อกับบริษัทผู้ให้บริการได้ด้วยการโทรศัพท์โดยตรงอย่างสะดวกเท่าไรนัก

ส่วนมากก็จะเน้นสื่อสารกันผ่านทางอีเมล เว็บไซต์ ซึ่งก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ใครที่ไม่สันทัดชำนาญการในภาษาอังกฤษ เสี่ยงต่อการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างทำข้อตกลงในการใช้บริการ กลัวว่าจะอ่านรายละเอียดอะไรผิดไป เกรงว่าเมื่อมีปัญหาแล้วจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็ตัดช้อยส์การใช้บริการจากต่างประเทศไปได้เลย แล้วหันมาเลือกใช้บริการเว็บโฮสติ้งที่มีให้บริการในประเทศไทยจะเป็นการดีซะกว่า เพราะไม่ต้องคอยเป็นกังวลเรื่องการสื่อสารที่ผิดพลาด

การทำข้อตกลง รวมไปถึงเรื่องการพูดคุยเจรจาต่างๆ การแจ้งปัญหาที่ผิดเพี้ยน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างใช้บริการกับผู้ให้บริการต่างประเทศ แถมยังสามารถโทรศัพท์ติดต่อได้สะดวกกว่าต่างประเทศเป็นไหนๆ ส่วนใครที่ไม่ได้มีปัญหาด้านการใช้ภาษาอังกฤษสามารถสื่อสารได้คล่องแคล่ว งั้นเราลองมาดูหัวข้อถัดไปกันเลยดีกว่าว่าเมื่อภาษาไม่ใช่อุปสรรคแล้วเราควรพิจารณาเรื่องอะไรเป็นสเต็ปต่อไป

คำนึงถึงกลุ่มผู้เข้าชมเว็บไซต์

สเต็ปต่อมาเป็นอีกหนึ่งเรื่องพื้นฐานที่ต้องนึกถึงเป็นลำดับต้นๆ เมื่อต้องการเลือกใช้บริการเว็บโฮสติ้ง นั่นก็คือกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าชมเว็บไซต์ของเรา เราควรรู้ให้แน่ชัดว่ากลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการนั้นเป็นกลุ่มคนภายในประเทศ หรือกลุ่มคนจากต่างประเทศ หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายผู้เข้าชมเว็บไซต์มาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการเลือกใช้บริการเว็บโฮสติ้งยังไง

งั้นขออธิบายอย่างง่ายๆ เปรียบเทียบให้เข้าใจแบบกระจ่างกันตรงนี้ไปเลยว่าการเข้าถึงเว็บไซต์นั้นก็จะต้องอาศัยสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องปกติ หากที่ตั้งเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งของเราอยู่ในประเทศเดียวกับผู้เข้าชมเว็บไซต์ หรืออยู่ในระยะทางที่ใกล้กันก็จะทำให้มีความเร็วในการเข้าถึงเว็บของเราได้มากกว่าเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ไกล

ก็เหมือนกับการส่งจดหมายภายในประเทศกับส่งจดหมายไปต่างประเทศ ยังไงซะบ้านที่ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านของเราก็ย่อมได้รับจดหมายไวกว่าบ้านที่ตั้งอยู่ไกลออกไป เพราะไม่ต้องเดินทางผ่านหลายที่ ส่งผ่านกันหลายต่อ

เรื่องความเร็วในการใช้งานนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ในยุคที่ทุกคนต้องการความสะดวกสบาย ความรวดเร็วมาเป็นอันดับต้นๆ อย่าลืมว่ายังมีอีกหลายเว็บที่มีเนื้อหาคอนเทนต์คล้ายกับของเราเต็มไปหมด หากกลุ่มเป้าหมายของเราเจอเว็บอืดเข้าหน่อย ผู้เข้าชมเว็บไซต์ก็อาจจะเปลี่ยนใจไปหาเว็บอื่นแทนก็ได้

ปริมาณพื้นที่การใช้งาน, ประมาณข้อมูลที่เข้าออก และราคาค่าบริการ

ควรเลือกผู้ให้บริการที่บอกปริมาณพื้นที่การใช้งาน (Disk Space) และบอกค่าการใช้งานประมาณข้อมูลที่เข้าออก (Data Transfer) ไว้อย่างชัดเจน เหมาะสมกับเว็บไซต์ของเรามากที่สุด เพราะกิจกรรมทุกอย่างบนเว็บของเราอย่างการอัปโหลด หรือดาวน์โหลดต่างๆ จะถูกคิดเป็นปริมาณข้อมูลที่เข้าออกด้วยเสมอ

ดังนั้นเราจึงต้องคิดคำนวณกะปริมาณให้ดีว่าเว็บของเราจะต้องใช้พื้นที่เท่าไหร่กี่ GB ต่อเดือน กรณีนี้คล้ายกับโปรค่าโทรศัพท์ สมมติว่าเลือกที่ 20 GB ต่อเดือน แต่ปรากฏว่าเราใช้เกินไปจากที่ตกลงกันไว้ ส่วนที่เกินมาเราก็ต้องจ่ายค่าใช้บริการเพิ่มเติมที่มักจะราคาสูงกว่าปกติ

ต่อมาสิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อไปก็คือเรื่องของราคาแพ็กเกจ ราคาค่าใช้บริการของแต่ละที่ก็มีราคาต่างกันออกไป โดยในภาพรวมแล้วผู้ให้บริการต่างประเทศจะมีค่าบริการที่ถูกกว่าภายในประเทศไทยของเรา เนื่องจากในต่างประเทศนั้นมีการแข่งขันทางธุรกิจประเภทนี้สูงกว่าไทย รวมทั้งยังมีต้นทุนพวกค่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต่ำกว่าประเทศไทยด้วย ซึ่งก็ทำให้เป็นหนึ่งจุดที่เรียกความสนใจจากใครหลายๆ คนให้มาเลือกใช้บริการเว็บโฮสติ้งได้ดีทีเดียว

อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมถึงขั้นตอนการชำระค่าบริการด้วยว่าระหว่างการจ่ายเงินให้กับผู้ที่อยู่ภายในประเทศ กับการจ่ายเงินออกไปยังต่างประเทศนั้น ตัวเราเองมีความสะดวกมากน้อยแค่ไหน เรื่องปริมาณพื้นที่การใช้งาน, ประมาณข้อมูลที่เข้าออก และราคาค่าบริการนี้เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาร่วมกัน แล้วเลือกใช้บริการจากแพ็กเกจที่คิดว่าเหมาะสมกับการใช้งานของเรามากที่สุด คุ้มที่สุด

บริการหลังการขาย

มาถึงประเด็นสุดท้ายกันแล้ว กับเรื่องบริการหลังการขาย ประเด็นนี้จะเน้นไปในเรื่องของการดูแลลูกค้าของผู้ให้บริการเป็นหลัก ตอนโน้มน้าวให้เราเป็นลูกค้าอาจจะให้บริการตอบคำถามเป็นอย่างดี แต่ใครจะรู้ว่าหลังจากที่เราตกลงปลงใจด้วยแล้วมันจะเป็นยังไงต่อไป จะลอยแพไร้การดูแลไปเลยรึเปล่า

ถามว่าแล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าผู้ให้บริการรายไหนมีบริการหลังการขายที่ดีหรือไม่ดี ง่ายๆ เลยคือเริ่มจากเช็กฟีดแบ็กจากผู้ที่เป็นลูกค้าอยู่แล้ว ว่ามีการคอมเพลนมากน้อยแค่ไหน โดนลูกค้าบ่นเรื่องการบริการที่ย่ำแย่บ่อยไหม หรืออาจดูจากจำนวนผู้ใช้บริการว่าผู้ให้บริการรายนี้เป็นที่นิยมหรือไม่

หากเป็นผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งในต่างประเทศส่วนมากก็จะมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าแพ็กเกจราคาเท่านี้ จะมีบริการหลังการขายอะไรบ้าง เช่น การแจ้งปัญหาผ่านอีเมล ผ่านเว็บ ผ่านแชท หรือเบอร์โทร ยิ่งแพ็กเกจราคาสูงๆ ก็ยิ่งได้รับบริการที่ดีตามราคาที่จ่ายไปด้วย ส่วนบริการหลังการขายในไทยนั้นเท่าที่เห็นมาจะไม่ได้มีการระบุไว้ชัดเจนอย่างในต่างประเทศเท่าไหร่นัก เราจึงอาจจะต้องสอบถามถึงรายละเอียดส่วนนี้กับผู้ใช้บริการให้แน่ชัด เช็กฟีดแบ็กให้ดีก่อนตัดสินใจเลือก

สรุป

จบครบหมดแล้วกับประเด็นหลักทั้ง 5 ประเด็นสำหรับเอาไว้ยึดเป็นแนวทางในการพิจารณาเลือกใช้บริการเว็บโฮสติ้ง ลองเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียดูกันไปทีละสเต็ปได้เลยว่าแบบไหนที่เหมาะกับเราได้ดีที่สุด สบายใจที่สุด และรู้สึกคุ้มค่ามากที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการในประเทศไทยหรือผู้ให้บริการต่างประเทศ ทั้งสองต่างก็มีความแตกต่างกันออกไปเล็กๆ น้อยๆ อยู่ที่ว่าแบบไหนจะเหมาะสม ตรงกับการใช้งาน และจุดประสงค์ของเรามากกว่ากัน

small_c_popup.png

บริการ Premium VPS และ Cloud Hosting เร็วกว่าด้วยเซิร์ฟเวอร์ในไทย

รับส่วนลด 50%

รับส่วนลด 50% ท้าให้ลอง VPS ที่ได้รับรีวิวบริการดีเยี่ยมสูงสุดใน Google Review